มิงกาลาบา เหงื่อไหลไคลย้อย ณ ย่างกุ้ง (อีกรอบ) มีพบแล้วก็มีจาก กลับบ้านแล้ว

รถเมล์ยามเช้าในประเทศพม่า ไม่ต่างกับรถเมล์ยามเช้าของประเทศไทย ไม่สิต้องบอกว่า รถเมล์ยามเช้าในเมืองย่างกุ้ง ไม่ต่างกับในกรุงเทพ   … ไม...


รถเมล์ยามเช้าในประเทศพม่า ไม่ต่างกับรถเมล์ยามเช้าของประเทศไทย ไม่สิต้องบอกว่า รถเมล์ยามเช้าในเมืองย่างกุ้ง ไม่ต่างกับในกรุงเทพ ไม่ว่ารถจะเป็นแบบไหน ช่วงเช้าก่อนรถติดนั้นเป็นช่วงเวลาที่ปล่อยใจได้มากเลยทีเดียว ก็เพราะว่าตอนเช้าพึ่งตื่น ยังไม่มีเรื่องอะไรในหัวมาก แสงอาทิตย์อ่อนๆยามเช้าสาดส่องสลับเข้ามาผ่านแต่ละช่วงตึก ลมเย็นๆพัดให้ผมที่ยุ่งๆอยู่ พริ้วว่อนเปิดหน้าผาก  รู้สึกเหนียวตัวอยู่นิดๆ นั่งมองและคิดไปเรื่อยเปื่อย

เราโตมากับขนส่งสาธารณะ เราโตมากับรถเมล์ ถึงเราจะไม่ค่อยได้มีโอกาสออกไปเที่ยวไหนก็เถอะในสมัยเด็กๆ  แต่ส่วนใหญ่แล้วก็นั่งรถเมล์ไปไหนมาไหนตลอดแล้วก็คิดว่า มันเป็นเรื่องปกติของทุกคน
ใครๆก็ต้องนั่งรถเมล์

จนวันหนึ่ง วันที่เราได้ออกไปสู่โลกกว้างกับชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยรั้วเทาแดง จากคำพูดของบุคคลที่พึ่งกลายเป็นเพื่อนเรา เราถึงได้รู้ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่นั่งรถเมล์ เราไม่เคยนั่งรถเมล์ในการพบปะเพื่อนใหม่การได้ทำความรู้จักกับคนใหม่ๆที่มาจากคนละที่ทั้งจากต่างจังหวัดและในกรุงเทพ ในทุกวันที่เรามีโอกาสพูดคุยกัน เรื่องที่เพื่อนเราไม่เคยนั่งรถเมล์นั้นน่าประหลาดใจที่สุด ทำไมถึงไม่เคยนั่งรถเมล์ล่ะเราคิดว่าอย่างน้อยก็ต้องเคยนั่งโดยสารไปโรงเรียนบ้าง ถึงแม้ว่า ปกติเวลาเราไปเรียนหนังสือ เราจะนั่ง เรือไปเรียนก็เหอะ มีหลายคนบอกว่า พ่อแม่เขาไปส่งที่โรงเรียน เวลาไปไหนมาไหนก็ไปรถส่วนตัว อีกทั้งตามต่างจังหวัด รถเมล์ไม่ใช่ตัวเลือกของการเดินทางซึ่งปกติแล้วจะเป็นมอเตอร์ไซค์มากกว่า
เราเริ่มเข้าใจชัดเจนขึ้นมาเมื่อเปรียบเทียบกับ บ้านย่าที่ต่างจังหวัด เราก็ไม่เคยนั่งรถเมล์ที่บ้านย่าเหมือนกันที่หว่า เพื่อนร่วมเอกในมหาลัยเราส่วนใหญ่แล้วล้วนมาจากต่างจังหวัด เราก็คล้อยตามกับคำตอบนี้ว่า ก็ที่ต่างจังหวัด รถส่วนตัวสะดวกกว่า แต่น่าประหลาดใจหนักเข้าไปอีก เมื่อถามเพื่อนที่มาจากเขตปริมณฑลแบบเรา หรือมาจากกรุงเทพเอง ก็มีคนที่ไม่เคยนั่งรถเมล์เหมือนกัน

สิ่งที่เราเคยคิดไว้นั้นได้ถูกเปลี่ยนไปแล้วเนื่องจากเราที่เคยเข้าใจว่ารถเมล์คือพาหนะการเดินทางที่เป็นปัจจัยหลักมาตลอดทำให้ รถเมล์ไม่ได้เป็นตัวเลือกรองๆในการที่เราจะเลือกโดยสาร นั่นจึงทำให้เราไม่เข้าใจว่า การท่องเที่ยวโดยการนั่งรถเมล์ ให้ความรู้สึกลำบาก แล้วมาพูดคำคมเท่ห์ว่า มันคือชีวิต หรือ นี่แหละชีวิตมันดูเป็นชีวิตตรงไหน ฮ่าๆ บัดดี้บอกว่าเราขวงโลก แต่เราก็รู้สึกแบบนั้นจริงๆ
ตรงสวนแห่งนี้มีอนุสาวรีย์แห่งอิสรภาพของพม่าที่ได้รับจากประเทศอังกฤษเมื่อปี ค.ศ.1948
อยู่กลางสวนสาธารณะมองดูแล้วคล้ายอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
สวนสาธารณะเปิดและมีคนออกกำลังกายอย่างที่คาดการไว้ ที่เจดีย์สุเลพญาแทบไม่มีรถเมล์วิ่งเข้ามา รถโล่งมากๆ ผิดไปจากที่เห็นเมื่อ 5 วันก่อนจริงๆ เราเห็นชาวพม่ามาวิ่งออกกำลังกาย บ้างก็เล่นโยคะ รู้สึกกระปรี้กระเป่า แล้วก็มีความคิดที่นึกถึงพม่าเปลี่ยนไปจากเดิมแบบ 360องศา (ก็พ่อชอบบอกว่าพม่าเป็นประเทศบ้านป่าเมืองเถื่อน)
ของแจกจากบนรถทัวร์
เราเข้าไปหาที่นั่งภายในสวนสาธาณะ จัดแจงนำทิชชู่เปียกมาเช็ดหน้าเช็ดขาก่อนที่จะเริ่มกินขนมปังที่ได้มาจากบนรถบัส และเริ่มเดินล่นสำรวจสวนสาธารณะเพื่อยืดเส้นยืดสายบ้าง มีคู่รักหนุ่มสาวชาวพม่า ออกมาเดทเดินควงกันกระหนุงกระหนิงแต่เช้าเลยนะ นี่เห็นแล้วแปลกใจมากๆ หนุ่มสาวพม่าแสดงความรักกันแบบไม่เขินขายเลยแฮะ มีคู่นึงที่เราคอยมองตลอดเพราะดูน่ารักดี ผู้หญิงจะแต่งตัวหวานๆชุดฟูฟ่อง ผ่ายชายจะตัวเล็กกว่านิดหน่อยคอยถือของให้ แล้วก็เห็นมีคู่บ่าวสาวมาถ่ายรูปพรีเวดดิ้งกันตรงหน้าเราเลย นั่งมองความเป็นไปของผู้คนยามเช้า จนแดดเริ่มไล่


ซิตี้ฮอลล์ถ่ายจากอนุเสาวรีย์บ้าง
มานึกถึงสิ่งที่ทำให้เราคิดว่าพม่าเป็นบ้านป่าเมืองเถือน ซึ่งทำให้สิ่งที่เรารู้มาตลอดตั้งแต่เด็กคือ เรื่องโบราณคร่ำครึอย่างเรื่อง พม่าตีบางระจัน เรื่องการเสียกรุง ใหม่ๆหน่อยก็เป็นภาพกลุ่มลี้ภัยตามชายแดนไทยพม่า การสู้รบของชาวกระเหรี่ยง หรือการอพยพของชาวโรฮิงญา หรือภาพความยากจนต่างๆ ก็ทำไห้ได้นึกย้อนกลับไปว่าทำไมถึงเกิดเรื่องแบบนี้ ถึงจะสรุปทั้งหมดไม่ได้ แต่ก็มองเรื่องใกล้ตัวอย่างเรื่องการสู้รบกันของพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์(ชนกลุ่มน้อย) ได้อยู่

เราเคยอ่านหนังสือท่องเที่ยวพม่า ที่พูดถึงเรื่องชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในพม่า ว่ามีหลากหลายกลุ่ม บางคนอยู่พม่าแต่ก็เป็นคน คะฉิ่น เป็นคนกระเหรี่ยง เป็นคนไทใหญ่ ไม่ใช่คนพม่า เราก็เคยอิมเมจไม่ออกว่ามันเป็นยังไง อ้าว กระเหรี่ยงไม่ใช่คนพม่าหรอกหรือ นั่นทำให้เรามีความเข้าใจผิดมาตลอดตั้งแต่เด็กๆเลย ถึงขั้นไม่เข้าใจว่าทำไมกระเหรี่ยง(ที่เคยเข้าใจว่าเป็นพม่า) ต้องรบกับพม่าซึ่งส่งปัญหามาถึงตะเข็บชายแดนไทยที่อยู่ติดกัน แถบชายแดนไทยพม่า แม่สอด จังหวัดตาก หรือแม่ฮ่องสอน มีค่ายลี้ภัยสำหรับชนกลุ่มน้อยที่หนีมาจากพม่าเยอะมากๆ

ก็เพราะว่ารัฐหรือชนกลุ่มน้อยต่างๆ (กลุ่มชาติพันธุุ์) ต้องการจะแยกตัวเป็นอิสระจากพม่านั่นเอง ในใจเคยคิดว่า อ้าว ไม่ใช่ประเทศเดียวกันหรอกหรือ  ซึ่งความจริงแล้ว รัฐหรือกลุ่มชาติพันธ์ที่ว่านี้เป็นชนชาติดั้งเดิม เรียกง่ายๆก็คือเป็นประเทศเล็กๆ (ที่เรียกว่ารัฐ) ที่พยายามจะปกครองตนเองมานาน ตั้งแต่ยุคก่อนที่พม่าจะเสียเอกราชให้อังกฤษอย่างราบคาบในปีค.ศ. 1886 ด้วยซ้ำ ในแผนที่ประเทศพม่าตอนนี้ ถ้าไม่ดูรัฐต่างๆแล้ว ประเทศพม่าจริงๆจะมีพื้นที่แค่นิดเดียว คือช่วงตอนกลางของประเทศ
พม่าดั้งเดิมก็อยู่แนวๆ Yangoon , Mandalay ถูกรายล้อมไปด้วยประเทศเล็กๆต่างๆ
หลังจากพม่ากลายหนึ่งในอณานิคมของอังกฤษ อังกฤษได้ผนวกพม่าและดินแดนของรัฐต่าง ๆ(ประเทศเล็กๆ) อาทิ ไทใหญ่ กะเหรี่ยง คะฉิ่น มอญ ฯลฯ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอินเดียของบริเตน หรือบริติชอินเดีย (อินเดียที่อังกฤษปกครอง)

แล้วได้แบ่งการปกครองเป็นสองส่วนคือ เขตพม่าแท้ ซึ่งอังกฤษจะดูแลโดยตรง และในส่วนเขตภูเขาและชายแดน (บริเวณดินแดนชนกลุ่มน้อยหรือรัฐต่างๆ) นั้นจะดูแลทางอ้อมคือให้สิทธิปกครองกันเองต่อไป แต่ว่าจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้สำเร็จราชการของอังกฤษ อังกฤษนั้นยกความสำคัญของรัฐ
เหล่านี้เทียบเท่ากับพม่า อย่างในรัฐฉาน อังกฤษได้ยกระดับแคว้นต่าง ๆ ของเจ้าฟ้าไทใหญ่ขึ้นรวมเป็น สหพันธ์รัฐฉาน (Federated of Shan States) และจัดตั้งสภาผู้นำแห่งสหพันธ์รัฐฉาน (Federal Council of Shan Chiefs) ซึ่งประกอบด้วยเจ้าฟ้าแคว้นต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่ดูแลเรื่องของกิจการภายในรัฐฉาน ง่ายๆคือ อังกฤษปกครองพม่าแต่ให้รัฐต่างๆดูแลตัวเอง เวลาผ่านไปนานเข้าจึงทำให้จากเดิมรัฐต่างๆที่เคยสงบศึกกับราชวงค์พม่าด้วยการส่งเครื่องราชหรือส่งลูกหลานเข้าไปเป็นนางสนมในราชสำนัก มีความเป็นเอกเทศมากขึ้น

ในช่วงเวลาอันยาวนานที่อังกฤษปกครองพม่าอยู่นั้น อังกฤษได้เข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากการขุดเหมืองแร่ และสัมปทานป่าไม้ และเก็บภาษีเช่น ภาษีหลังคาเรือน ภาษีทำนา ทำสวน ทำไร่ สินค้า แร่ ไม้ จากความลำบากที่ถูกทางอังกฤษเอาเปรียบจึงทำให้ชาวพม่าและรัฐต่างๆก็ต้องการเอกราชคืนจากอังกฤษ

ช่วงหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นเอง จากการพูดคุยกันระหว่างอังกฤษกับพม่าโดยมีนายพลอองซาน เป็นตัวตั้งตัวตี อังกฤษบอกว่า ถ้าจะเอาเอกราชให้รวมตัวกันให้เป็นปึกแผ่นก่อน ดังนั้นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1947  จึงมีการประชุมร่วมระหว่างตัวแทนของอังกฤษ รัฐบาลพม่า และตัวแทนรัฐต่างๆ ( ฉาน กะฉิ่น และชิน) ที่เมืองปางโหลง เมืองเล็ก ๆ ในรัฐฉานมาทำข้อตกลงรวมตัวกันก่อนเพื่อได้รับอิสระภาพจากอังกฤษ  โดยมีชื่อสัญญาว่า หนังสือสัญญาปางโหลง โดยมีเนื้อหาสาระหลัก 9 ข้อที่เป็นแนวๆที่แสดงออกว่ารัฐทั้งหมดมีความเท่าเทียมกัน แต่ไม่ได้มีการระบุเรื่องสิทธิถอนตัวเป็นลายลักษณ์อักษรในสัญญา ด้วยที่นายอองซานบอกว่า ให้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญสหภาพ (พลาดมาก)
สหภาพพม่าเกิดขึ้นได้เพราะสัญญาปางโหลง : ที่มาภาพ คลิ๊ก

ดังนั้นสหภาพพม่า เกิดจากประเทศเล็กๆ หลายประเทศ (ที่เรียกกันว่ารัฐ) มารวมตัวกัน อีก10ปีข้างหน้าค่อยแยกตัวกัน หลังจากรวมสหภาพได้แล้ว พม่าก็มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของพม่า และนายพลอ็องซาน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง กลายเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไป

แต่ไม่ทันไรหลังทำข้อตกลงรวมกันได้เพียง 5เดือน ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในการขอเอกราชจากอังกฤษก็ถูกฆ่าตายเสียก่อน  ในวันที่ 19 กรกฎาคม 1947 มีชายฉกรรจ์ บุกเข้ามายิงนายพลอ็องซานและคณะรัฐมนตรีเสียชีวิตขณะกำลังร่างรัฐธรรมนูญกันอยู่ รัฐธรรมนูญฉบับปี 1947 ที่กำลังร่างขึ้นนี้ มีข้อระบุสิทธิการแยกตัวของรัฐต่าง ๆ ที่ตอนทำสนธิสัญญาปางโหลง ไม่ได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษรไว้รวมอยู่ด้วย

เหตุการณ์สังหารที่เกิดขึ้นนี้เป็นคำสั่งของ  อู ซอ (U Saw)  นักการเมืองอาวุโสของพม่า อดีตนายกรัฐมนตรีของพม่าที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองของนายพลอ็องซาน  พม่านั้นเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษแบบเสร็จสรรพในปี ค..1837  หลังจากตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษพม่าได้รับอิสระภาพจากอังกฤษเมื่อ 4 มกราคม ค.ศ.1958  รวมเวลาหนึ่งร้อยกว่าปี

อูซอ ไม่ได้ถูกเลือกให้เป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลอย่างที่ตัวเองตั้งใจไว้ (แถมโดนโทษประหารแขวนคอ) อูนู ซึ่งเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในขณะนั้นได้รับให้มาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีแทน
 
ตะขิ้นนุหรืออูนุและอองซาน ที่มาภาพ คลิ๊ก

ปี ค.. 1958 ครบ 10 ปี ถึงเวลาที่รัฐต่างๆจะต้องได้แยกเป็นอิสระจากพม่า ตัวตั้งตัวตีในการรวมสภาพก็ไม่อยู่แล้ว รัฐต่างๆก็เริ่มมีการทวงคืนสัญญาหรือใช้สิทธิถอนตัวตามรัฐธรรมนูญ  แต่พม่าก็ไม่ได้ยอมกระเหรี่ยงเป็นกลุ่มแรกที่เริ่มก่อสงครามกับรัฐบาลพม่า (เริ่มตั้งแต่พม่าได้รับเอกราช) โดยตั้ง กองกำลังกู้ชาติกระเหรี่ยงเพื่อเรียกร้องอิสระภาพให้ตนเอง ซึ่งกระเหรี่ยงนั้นไม่ได้ร่วมทำข้อตกลงสินธิสัญญาปางโหลงด้วย แต่เพราะคิดว่ารัฐของตัวเองนั้นมีสิทธิแยกตัวออกตั้งแต่วันแรกที่ครบสัญญาแล้ว ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลพลเรือนของอูนุ ไม่สามารถต่อกรกับปัญหากับกลุ่มรัฐต่างๆ โดยเฉพาะกระเหรี่ยงได้ จึงเชิญนายพลเนวินซึ่งขณะนั้น ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของพม่า ขึ้นมาเป็นรัฐบาลรักษาการ ปี ค..1960  เพิ่อเตรียมเลือกตั้งใหม่ หลังจากอูนุชนะการเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง (สมัยที่ 3) ได้เพียง 2 ปี ก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ประเทศพม่าต้องพบกับสงครามกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยืดเยื้อที่สุด กลายเป็นประเทศที่มีสงคราวกลางเมืองที่ยืดเยื้อที่สุดในโลก เหตุการณ์นั้นก็คือ การยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนนั่นเอง

จากเหตุการณ์การประท้วงหนัก ของชาวกระเหรี่ยง ของชาวไทใหญ่ รัฐฉาน และรัฐคะยาที่พยายามเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เหตุการณ์ความวุ่นวายจากการประท้วงนั้น ทำให้ในวันที่ 2 มีนาคม 1962 นายพลเนวิน ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีอูนุ และทำการยุบสภา รวมทั้งยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี ค.. 1947 ส่งผลให้สิทธิการถอนตัวจากสหภาพกลายเป็นโมฆะไป ที่น่าตกใจคือตอนนั้นนายพลเนวิน ได้รับการสนับสนุนล้นหลามจากประชนชนพม่า (เพราะอูนุไม่ทำอะไรให้ประเทศดีขึ้น)
นายเนวิน : ที่มารูปภาพ คลิ๊ก
พม่า (รัฐบาลทหารพม่าที่นำโดยนายพลเนวิน) ใช้ความรุนแรงปรามปรามชนกลุ่มน้อย  กลุ่มคนที่เป็นภัยต่อประเทศ รวมถึงเจ้าฟ้าไทใหญ่ทั้งหลายบ้างก็ถูกจับ ถูกฆ่า ถูกเนรเทศกระจัดกระจายกันไป (เจ้าจายหลวง เจ้าฟ้าแห่งเมืองเชียงตุงถูกจับขัง 6 ปี แถมหลังจากถูกปล่อยตัวก็ไม่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านอีก เจ้าจาแสง เจ้าฟ้าแห่งเมืองสีป้อนั้นหลังจากที่ทหารยึดอำนาจก็ถูกจับตัวไปแบบไม่รู้ชะตากรรมที่แน่นอนเพราะทหารบอกว่าไม่ได้จับตัวไป เจ้าฉ่วยไต้ เจ้าฟ้าแห่งเมืองยองฉ่วยที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของพม่าหลังได้รับเอกราช ก็ถูกกองทัพควบคุมตัวและเสียชีวิตในเรือนจำ) จากการที่รัฐต่างๆ ไม่ได้แยกตัวเป็นอิสระตามข้อตกลง จึงเป็นเหตุที่รัฐบาลพม่ากับรัฐหรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆสู้รบกัน มาโดยตลอดนั่นเอง

ภาพอีกแนวจากกล้องฟิล์ม

ภาพอีกแนวจากกล้องฟิล์ม

หลังจากที่เราเดินเล่นในสวนสาธารณะได้สักพัก (เกือบสามชั่วโมง) เราก็ออกไปเดินเล่นที่อื่นฆ่าเวลา ซึ่งในใจอยากเช็คอินที่พักและนอนกลิ้งไปกลิ้งมามากกว่า แต่ก็ตัดสินใจได้ว่า จะเดินไปหาอาหารเช้ากินแล้วก็ทำธุระส่วนตัวนิดหน่อยโดยมีจุดมุ่งหมายคือไปแถวๆตลาดโบจ๊กอองซาน หรือตลาดสก็อต เราเดินตรงตามถนน
Pansodan  street เข้าไปเพื่อจะไปต่อที่ ถนน Anawrahla street  ไม่แน่ในตัวเองว่าทำไมถึงเลือกเดินทางนี้ ไม่ได้มีการวางแผนอะไรเป็นพิเศษ จากแผนที่ที่มีอยู่ในมือ ถ้าเราเดินไปเลียบถนน Anawraha Rd ไปก็จะเจอตลาดสก็อตได้ง่ายละมั้ง ช่วงเช้าในย่างกุ้งนั้นวุ่นวายมาก รถติดแออัดไปทุกถนน ตลอดเส้นทางมีร้านอาหารมากมาย ร้านขนมปังก็เยอะ เรารู้สึกหิวข้าวมากแต่ก็อยากเข้าห้องน้ำเพื่อไปทำธุระแบบผู้หญิงด้วยก็เลยพยายามหาร้านที่น่าจะมีห้องน้ำให้เข้า
ภาพอีกแนวจากกล้องฟิล์ม
ภาพอีกแนวจากกล้องฟิล์ม
ภาพอีกแนวจากกล้องฟิล์ม
ผ่านร้านขนมปัง คนเยอะมากๆ….กลิ่นหอมน่ากิน แต่ดูท่าจะไม่มีห้องน้ำ ผ่านร้านขายอาหารกลิ่นคล้ายแกงกระหรี่คนเยอะเกินไป ...จะมีห้องน้ำหรือเปล่านะ เดินไปจนถึงก่อนออกถนนหน้าตลาดสก็อต เจอร้านขายไก่ทอดดูคล้ายเคเอฟซี ดูท่ากำลังเปิดใหม่ เพราะมีช่อดอกไม้วางโชว์เต็มไปหมด คิดว่ายังไงก็ต้องมีห้องน้ำ แล้วก็จะได้กินไก่ทอดด้วย ก็เลยตัดสินใจเดินเข้าไป 

ในร้านไม่มีลูกค้าเลย อาจเพราะว่ายังเช้าไป เราเดินไปที่เคาเตอร์สั่งไก่ทอดชุดเล็กกินแต่พอหิว พนักงานต่างยิ้มแย้มต้อนรับเรา ดูทว่าร้านยังเปิดไม่เสร็จ พลางคิดอีกว่าเราอาจจะเป็นลูกค้าคนแรกของวันนี้ ถ้าเราสั่งอาหารชุดเล็กประเดิมร้านเขามันจะดีหรือเปล่านะ แต่เราก็ไม่ได้สั่งไก่เพิ่ม มาเพิ่มที่แป๊บซี่แทน สังเกตเห็นในถาดอาหารมีถุงพลาสติกมาด้วยม้วนนึง แต่ก็ไม่ได้สนใจ นั่งแทะปีกไก่ไปดูวีดีโอโปรโมทร้านไป

จากหนังสือท่องเที่ยวทราบว่าข้างๆตลาดสก็อตมีโบสถ์คริสต์อยู่ ในช่วงเช้าที่ไม่รู้ว่าจะไปไหนก็เลยตัดสินใจลองเดินไปเที่ยวดูดีกว่า แถมด้วยจะลองไปเซอร์เวย์ถนนหนทางที่เราจะไปเจดีย์ชเวดากองในเย็นนี้ หลังจากหลังจากแทะไก่และดูดน้ำแป๊บซี่จนหมด จึงหันไปสนใจถุงพลาสติกที่ม้วนมา พอแกะออกจึงได้รู้ว่าเป็นถุงมือพลาสติก ดูแล้วตลกดี ในใจตอนนั้นคิดว่า ถ้าต้องใส่ถุงมือแทะไก่ทอด ขอกินมือเปล่าแล้วเอามือสกปรกเช็ดเสื้อจะดีกว่า

เดินออกจากร้านมา ร้านข้างๆเป็นร้านอาหารไทย เดินตรงไปอีกนิดก็เจอถนน Anawrahla street เดินตรงไปอีกหน่อยก็เป็นถนน Bogyoke Rd, ที่เป็นที่ตั้งของตลาดสก็อต ที่ตลาดสก็อตยังไม่ทันได้เดินเข้าไปข้างในก็เจอทัวร์คนไทยซะก่อน ทราบว่าตลาดสก็อตฮิตสำหรับคนไทยมาก แต่ก็ไม่คิดว่าจะเจอคนไทยแต่เช้าขนาดนี้ แล้วตลาดสก็อตแห่งนี้ก็น่าจะฮิตสำหรับคนไทยจริงๆ สังเกตุจากร้านจิวเวอรี่ในนี้ มีป้ายราคาเป็นภาษาไทยด้วย

จากการเดินวนไปมาอยู่ในตลาดสก็อตเท่าที่ดูส่วนใหญ่ก็ขายเสื้อผ้า (ที่ไม่ได้แฟชั่นจ๋า) ลักษณะคล้ายๆตลาดโบ้เบ้สำเพ็ง เน้นแนวเสื้อผ้าชุดชั้นในก็เยอะ มีเครื่องประดับเงิน หยก เครื่องเขิน ของตกแต่งบ้าน งานศิลปะที่ดูแปลกตาโดยการนำผลงานมาแสดงโชว์ตามขั้นบันได เดินผ่านก็เพลินตา เราเสียเวลาตรงนี้นิดหน่อย ก่อนจะเดินเลียบตลาดสก็อตไปยังโบสถ์ Holy Trinity Anglican Church
โบสถ์Holy Trinity Anglican Church คือโบสถ์คริสต์นิกายแองกลีกัน เป็นโบสถ์ที่เริ่มสร้างในปี 1886 และเสร็จในปี 1894 เป็นสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลโกธิค อยู่ตรงหัวมุมถนนติดตลาดสก็อตเลย
โบสถ์ดูโออ่ามากๆ เราเดินเข้าไปเจอป้ายที่พูดถึงการเมตตาเผื่อแผ่ ในความรู้สึกตอนนั้น รู้สึกล้ามากจึงได้เดินเข้าไปหาที่นั่งพักหาที่นั่งงีบนิดหน่อย ที่โบสถ์นอกจากเราและครอบครัวชาวพม่าแม่ลูกสามคนที่เดินเข้ามาจากประตูข้างโบสถ์แล้ว ก็ไม่มีใครเลย เรานั่งพักเอนหลังตรงนั้นราวๆชั่วโมงนึง จดบันทึกและนึกถึงเรื่องราวหลายวันที่ผ่านมาในประเทศพม่านี้ ยังนึงถึงความประทับใจที่เมืองสีป้อ การเดินหาแลกเงินที่เมืองมัณฑเลย์ การปั่นจักยานท่องเจดีย์เมืองพุกาม 
ภาพอีกแนวจากกล้องฟิล์ม

ถึงจะเหนื่อยแต่ก็หลับไม่ลงเพราะเอาแต่คิดนั่นคิดนี่ จากนั้นก็เดินไปเจดีย์ชเวดากองโดยออกประตูด้านข้างโบสถ์ การไปเจดีย์ชเวดากองนั้นไม่ยากเลยถ้าไปจากตลาดสก็อต แค่เดินมาที่หัวมุมถนนตรงที่ตั้งโบสถ์แล้วเดินเลี้ยวเข้าถนน
shwedagon pagoda rd แค่ตรงไป ราว2-3 กิโลเท่านั้นเอง เราเดินไปไม่ถึงเจดีย์ เดินไปถึงแค่ระยะที่มองเห็นเจดีย์เพื่อให้รู้และกะระยะถูกว่าตอนเย็นเราจะออกเดินทางกี่โมงเพื่อให้ถึงเจดีย์ไม่เย็นเกินไป
ออกมาจากประตูข้างโบสถ์ก็จะเจอถนนเส้นนี้ แค่เดินตรงไปก็ถึงเจดีย์ชเวดากองแล้ว
เห็นเจดีย์แล้ว เดินกลับได้ !
เราก็เดินกลับเพื่อไปเช็คอินที่พักที่จองไว้ เกสเฮาสต์ที่เราพักมีชื่อว่า Agga guest house อยู่ที่ถนน Anawratha (Anwratha road) ซอย 15 (15 street) ซึ่งจากที่พักไปเจดีย์ชเวดากองนั้นไม่ไกลเลย สำหรับใครที่ต้องการที่พักที่อยู่ใกล้ตลาดและใกล้เจดีย์ชเวดาดองแนะนำว่าที่พักบริเวณนี้ใกล้มาก หรือเปล่าไม่แน่ใจ ตอนเดินไปที่พักขณะยังเหนื่อยก็ว่าไกล ต้องแวะซื้อน้ำดื่มดับกระหายไปรอบนึง แถมยังมีบ่นนิดหน่อย

ภาพอีกแนวจากกล้องฟิล์ม

ที่เกสเฮาสต์เราเข้าไปยังไม่ถึงเวลาเช็คอิน แต่ก็สามารถอาศัยนั่งพักเล่นอินเตอร์เนตที่ลอบบี้ได้อยู่ เรารีบชาร์ตแบตไอพอตที่หมดไปจะได้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเพื่อบอกบัดดี้ว่าตัวเองได้เดินทางปลอดภัยมาถึงเมืองย่างกุ้งแล้ว

เข้าไปพักและอาบน้ำได้แป๊บเดียว เราก็ออกจากที่พักเลย สาวแอนนี่ นักเดินทางจากอังกฤษกำลังเล่นโยคะอยู่ในห้อง พวกเราพูดคุยกันนิดหน่อย เดินไปตามทางที่เดินมาอย่างชำนาญ เข้า4โมงเย็นแล้วแต่แดดแรงเปรี้ยงไม่สร่าง เพื่อที่จะใปให้ถึงเจดีย์ชเวดากองก่อนพระอาทิตย์ตกดิน เราจ้ำอ้าวด้วยจังหวะเพลง disco 2000 ของวง plup ที่มักเปิดฟังเวลาวิ่งออกกำลังกาย จำอ้าวจนรู้สึกว่าตัวลอย จนผ่านไปสักพักจึงคิดได้ว่าเราเดินเร็วเกินไปไม่ทันได้มองสิ่งรอบข้างคิดได้ว่าควรเปลี่ยนไปฟังเพลงที่ช้าลง  จึงกดเอ็มพี3เลื่อนไปหลายเพลง จนมาเจอเพลงDon’tlook back in anger ของ Oasis ในช่วงบ่ายแก่ๆของเมืองย่างกุ้งที่ร้อนระอุ ฝุ่นและควันลอยฟุ้ง แดดเผาจนรู้สึกแสบผิว ปกติแล้วเราไม่เคยพกร่มไปไหนมาไหนถ้าฝนไม่ตก วันนี้เราได้ใช้ร่มที่พกจากไทยเพื่อมากันแดดเสียที รู้สึกไม่เสียเที่ยวที่พกมา


ข้างโบสถ์ที่เรานั่งเล่นเมือช่วงสายๆ เดินไปนิดหน่อยจะเจอสะพานที่จะทำให้เรามองเห็นสถานีรถไฟเล็กๆได้ ไม่แน่ใจว่าเป็นสถานีอะไร แต่ลงสะพานไปจะมีถนน Uwisawa Rd ที่มุ่งหน้าไปยังทะเลสาบอินเล และฝั่งตรงข้ามนั้นจะมีสวนสาธารณะเล็กๆอยู่ มีนักท่องเที่ยวคนนึงนอนหลับท่ามกลางควันจากรถยนตร์ เราเดินเข้าไปสำรวจด้านในสักพักก่อนจะเดินมุ่งหน้าต่อไป

ถนน Swedagon Rd นั้นจะทำให้เรามุ่งหน้าเข้าสู่ประตูทิศใต้ของเจดีย์ ถ้าไปที่ถนน Uwisawa Rd ก็จะไปโผล่อีกทิศนึง แต่คิดว่าเดินตามถนน Swedagon น่าจะดีกว่า เพราะเป็นถนนที่ทางเดินกว้างและรถไม่ค่อยพลุกพล่านเดินจากตลาดสก็อตแล้วไม่หลงแน่ (Uwisawa Rd มันออกไปถนน Pyay Rd ที่มุ่งสู่สนามบินได้) ระยะทางจากโบสถ์ไปเจดีย์จะว่าไกลก็ไม่ รอบแรกที่มาสำรวจทางก็คิดว่าไกลอยู่ แต่พอมารอบสองก็รู้สึกว่าไม่ได้ไกล ทางเท้าในตัวเมืองย่างกุ้งแห่งนี้ เดินแล้วรู้สึกปลอดภัยมากกว่าเดินในกรุงเทพเสียอีก เราเดินผ่านบ้านที่ดูใหญ่โตเก่าแก่หลายหลัง บางหลังไม่ได้สร้างกำแพงปิดมิดชิดสามารถมองลอดเข้าไปได้ พลางทำให้นึกถึงความเป็นไปของพม่าที่ตกหล่นไปจากหัวเรา พูดง่ายๆคือ นอกจากเรื่องทองไทยสมัยกรุงศรี และการสู้รบตามตะเข็บชายแดนไทย เราแทบไม่รู้อะไรเลย

เมืองย่างกุ้ง หรือพม่าตอนใต้นี้ตกเป็นอณานิคมของอังกฤษก่อนมัณฑเลย์ราชธานีแห่งสุดท้ายของพม่าเสียอีก  พม่าไม่ได้เสียประเทศให้กับอังกฤษคราวเดียว จากการรบกับอังกฤษ 3 ครั้งนั้น พม่าได้เสียเมืองครั้งแรกปี ค.ศ.1826 เสียยะไข่ (Arakan)และมณีปุระ(ช่วงรัชกาลที่ 3และครั้งที่ 2ในปี  ค.ศ. 1852 เสียพม่าตอนล่างรวมถึงย่างกุ้ง สมัยพระเจ้ามินดง (ช่วงรัชกาลที่ 4) สุดท้ายครั้งที่  ปี ค.ศ. 1855 (ช่วงรัชกาลที่ 5) ในสมัยพระเจ้าธีปอได้ตกเป็นของอังกฤษอย่างสิ้นเชิงพร้อมกับการล่มสลายของระบอบกษัตริย์ (อดีตกษัตริย์ถูกเนรเทศไปอยู่อินเดียและสวรรคตที่นั่น)

ในยุคอณานิคมนั้นอังกฤษได้ใช้เมืองย่างกุ้งเป็นเมื่อศูนย์กลางการค้าและการเมือง มีการวางผังเมืองแบบอังกฤษ เป็นแบบบล๊อคตัดกัน โดยมีศูนย์กลางเมืองที่เจดีย์สุเลพญา (วนรถเมืองอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยเลย) รอบๆเราจะได้เห็นสถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียล หรือสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม ซึ่งที่ย่างกุ้งนี้มีสิ่งก่อสร้างสไตล์นี้เยอะที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ศิลปะแบบอาณานิคม ก็คือศิลปะชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงอณานิคม ประเทศไทยไม่ได้ตกเป็นเมืองอณานิคมของชาติตะวันตกแต่ก็มีสิ่งก่อสร้างสไตล์โคโลเนียลอยู่เยอะ)  ถ้ามองจากสวนสาธารณะเมืองย่างกุ้ง เราจะได้เห็นศิลปะสไตล์โคโลเนียล อาทิเช่น City hall  (ตรงที่จอดรถเมล์ไปสนามบิน), High Court Building ,โรงแรมโดยรอบสวนสาธารณะ

พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง
เจดีย์ชเวดากองพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง เชื่อกันว่าเป็นมหาเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าจำนวน เส้น หนังสือ Guinness Book of Records ได้จัดให้พระเจดีย์ชเวดากองเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในโลก

เราตั้งใจจะเข้าไปที่เจดีย์ชเวดากองราวๆ 4โมงเย็น จนถึงสักเวลา 1ทุ่ม จึงตั้งใจหาอะไรกินก่อนที่จะเข้าไปเกรงว่าจะหิวเป็นลมระหว่างเดินทัวร์เจดีย์ ก่อนถึงทางเข้าเราเลือกร้านอาหารข้างทางเป็นร้านขายก๋วยเตี๋ยวคลุกที่หน้าตาอาหารดูออกจะไม่น่ากินนิดหน่อย แต่มองดูไม่ไม่มีร้านอื่นแล้วก็เลยจำต้องเป็นร้านนี้ การสั่งก็ไม่ต้องอะไรมาก แค่บอกเขาว่าเอาจานเดียว ชี้ๆมือก็จบเลย

แม่ค้านำก๋วยเตี๋ยวคลุกมาเสริฟพร้อมกับน้ำซุปและชาร้อน อาหารรสชาดไม่ได้แย่เหมือนหน้าตา ถึงจะรู้สึกเลี่ยนไปหน่อยก็เถอะ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคลุกกับอะไรบ้าง แต่เส้นก๋วยเตี๋ยวที่รสชาดคล้ายบะหมี่นั้นเคี้ยวมันจริงๆ จริงๆมันมีความรู้สึกหวาดกลัวการท้องเสียขึ้นมานิดหน่อย เพราะสาวแอนนี่จากอังกฤษพึ่งมาถึงย่างกุ้งเมื่อวานนี้ก็ท้องเสียซะแล้วทำให้ไม่สามารถออกไปไหนได้ แต่ด้วยความรู้สึกว่ามันก็ใช้ได้ ก็เลยกินเกือบหมด ถ้าไม่เกิดว่าสายตาพลันเหลือบไปเห็น ขี้ของนกพิราบตกลงมาจากท้องฟ้าเหนือบริเวณโต๊ะทำกับข้าวนั้น โดยที่แม่ค้ามองไม่เห็นด้วย เราไม่รู้ว่า ขี้นกได้ตกลงไปส่วนไหนของโต๊ะ แต่เราก็หยุดกินแล้วเดินทางต่อทันที !(หมดรมณ์เลย)
บริเวณปากทางเข้าหลังจากผ่านประตูมาแล้วจะมีจุดที่สำหรับฝากรองเท้าซึ่งเราไม่ได้ฝากรองเท้าไว้แต่ก็ได้ขอถุงสำหรับใส่รองเท้ามาด้วย ถ้าจะฝากรองเท้าก็ต้องลงที่ประตูทางเดิม ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะลงมาทางเดิมถูกมั้ย และจากนั้นก็เดินขึ้นบันได ซึ่งประตูทางทิศนี้ไม่มีบันไดเลื่อนให้ เราเดินโดยไม่รู้ว่าเราต้องไปจ่ายเงินค่าเข้าชมตรงไหน ค่าเข้าชมเจดีย์ชเวดากองสำหรับประชาชนชาวพม่าไม่ต้องเสียค่าเข้าชม ชาวต่างขาติจะเสียคนละ 8,000จั๊ต ซึ่งเราก็เดินไปจนเห็นฐานของเจดีย์กำลังออกประตูแล้วแต่ยังไม่ได้เสียเงิน เลยเดินกลับมาถามเจ้าหน้าที่ซึ่งเขาก็บอกเราว่า ไม่รู้เลยว่าเราเป็นชาวต่างชาติ
ตอนเด็กๆเรามีโอกาสได้ดูสารคดีเกี่ยวกับชเวดากอง เป็นความทรงจำสีจางๆถึงเจดีย์ว่า ชาวพม่านั้นไม่ได้มีความฝักไฝ่เรื่องของทองในแง่ของเครื่องประดับเลย ชาวพม่าที่เป็นพุทธศาสนิกชนจะบริจาคทองเพื่อให้นำมาหุ้มพระเจดีย์ การถวายทองคำแก่วัดเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงศรัทธาของตนต่อพุทธศาสนา และเชื่อว่าบุญที่ทำไปจะส่งผลดีต่อตนในชาติหน้า พระมหาเจดีย์ชเวดากองถูกสร้างขึ้นเมื่อกว่า 2,500 ปีก่อน ซึ่งธรรมเนียมการบริจาคทองหุ้มเจดีย์นั้นมีมานานมาก โดยเริ่มขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 15โดยพระนางฉิ่นซอปู้ ถวายทองคำตามน้ำหนักตัวของพระนางคือประมาณ 50 กิโลกรัมและประเพณีนี้ถูกสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันนี้ทองคำที่เจดีย์ชเวดากองนั้นมีน้ำหนักถึง 60ตัน ความหนาประมาณ 7ชั้น
ถึงจะรับรู้ว่าทองที่ปิดนั้นเป็นทองที่เกิดจากศรัทธาจึงนำมาถวาย แต่ทุกครั้งที่พูดถึงพม่า ผู้ใหญ่ที่รู้จักมักจะบอกว่า นั่นเป็นทองของสมัยกรุงศรีตอนที่พม่ามาตีเมืองแล้วเอากลับไป เราก็มีความขัดแย้งในหัวมาตลอดเพราะมันมีคำถามในใจอย่างน้อยก็สองสามข้อจากมุมของคนด้อยความรู้ เช่น กรุงศรีอยุธยาเอาทองมากมายมาจากไหน มีมากมายขนาดนั้นหรือ? พม่าละลายทองไปได้ยังไง ?เอาไฟจากคบเพลิงมาลน? ถ้ามองกันจริงๆเจดีย์ชเวดากองนั้นก็ไม่ได้เป็นของพม่า(แท้)ดั้งเดิม 

ประวัติทั่วไปก็คือชาวมอญเป็นผู้สร้างซึ่งพระนางฉิ่นซอปู้นั้นก็เป็นชาวมอญ ประเพณีการปิดทองนั้นก็มีมาตั้งแต่กษัตริย์มอญเรื่องอำนาจอยู่ แล้วในช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองที่กล่าวกันว่าพม่าเอาทองไปนั้น เป็นยุคของราชวงศ์อลองพญา ซึ่งมีราชธานีอยู่ที่อังวะ(อยู่ในเขตมัณฑะเลย์ปัจจุบัน) ทองที่ได้มาก็คงไม่ได้เอาไปปิดที่เจดีย์ชเวดากองทั้งหมดหรอก ดังนั้นแทนที่จะเหมาคำพูดว่า นั่นทองสมัยกรุงศรีน่าจะพูดว่า ทองนั้นนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่เอาไปจากกรุงศรีน่าจะดีกว่ามั้ย? ประวัติศาสตร์เป็นยังไงไม่รู้ทองถ้าหลอมแล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นของใคร ก็ไม่รู้จะสร้างความรู้สึกเกลียดชังพม่าไปเพื่ออะไร

พูดถึงเรื่องการนมัสการดีกว่า วิธีหลักๆลอกจากหนักสือมานั้นก็คือ สักการะองค์พระประธานในวิหารทั้ง4 ทิศ จากนั้นก็จุดธูปเทียนถวายดอกไม้พระประจำวันเกิด พร้อมกับสรงน้ำพระประจำวันเกิดเท่าจำนวนอายุบวกหนึ่ง แล้วก็เดินตั้งจิตอธิษฐานวนรอบเจดีย์ 1รอบ  รดน้ำสักการะต้นพระศรีมหาโพธิ์และสุดท้ายคือตีระฆังใบใดใบหนึ่ง เราไม่ได้สนใจในพระพุทธศานาเท่าไร ว่ากันตามจริง เราไม่ได้เข้าวัดไหว้พระ แบบที่พุทศาสนิกชนเขาทำกัน
บางทีก็คิดว่าจะไปเจดีย์ชเวดากองทำไม?
เราศรัทธาอะไร?
แล้วเราจะทำตัวยังไง?

เราทำตามวิธีที่อ่านมา โดยการเดินวนรอบพระธาตุเพื่อสักการะพระประธานจนครบทั้งสี่ทิศ ซึ่งมีที่ประดิษฐานสร้างด้วยเครื่องไม้หลังคาทรงปราสาท ปิดทองล่องชาด มีประชาชนมากราบไหว้บูชามากมาย เราก็จะนั่งนิ่งๆ พยายามมองหาความหมายของการเดินสักการะพระธาตุแห่งนี้ 
ทุกคนสงบนิ่ง
ต่อแถวสักการะพระประจำวันเกิด
หลักจากสรงน้ำพระประจำวันเกิดเสร็จ เราก็เริ่มเดินบนรอบพระธาตุ บรรยากาศภายในนั้นมีทั้งชาวต่างชาติและประชาชนชาวพม่า มองเห็นชาวพม่าต่างนิ่งสงบนั่งลงกับพื้นสวดมนต์ ชาวต่างชาติมีไกด์นำทางคอยอธิบาย ถึงคนจะพลุกพล่านแต่ก็เงียบสงบมาก ยังไม่ทันเดินจนครบรอบแรก บรรยากาศได้ซึมซับไปที่ตัวเราที่ก่อนหน้ากำลังกระโตกกระตาก รู้สึกดีขึ้น จนเราพูดกับตัวเองในใจที่สงบลงแล้วว่า

หนูขอเริ่มใหม่ด้วยความที่ไม่รู้ว่าจะต้องพูดกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบไหน เราพูดไปด้วยคำพูดง่ายๆ จากนั้นเราเริ่มเดินวนรอบพระธาตุใหม่จนจบ แล้วไปรดน้ำสักการะต้นพระศรีมหาโพธิ์และสุดท้ายคือตีระฆัง เป็นอันเสร็จสิ้น เราเดินชมความงามรอบเจดีย์อีกรอบ เราก็เริ่มหาที่นั่งชมความงามของเจดีย์ทองบริเวณลานกว้างใต้ต้นโพธิ์ เราไม่รู้ว่าการที่เรานิ่งและสักการะด้วยความรู้สึกดีที่เกิดขึ้นกับเรานั้นเรียกว่าศรัทธาหรืออย่างไร หรือสิ่งศักสิทธิ์ได้บันดาล แต่เราคิดว่า การที่เราพาตัวเองที่ยังที่ๆสงบ ที่ๆมีแรงศรัทธา (ของผู้อื่น) นั่นมันทำให้เรารู้สึกสงบไปโดยปริยาย เรานึกถึงสิ่งที่เราถูกสอนมาตลอดว่า อยากเจอคนดี ก็ให้ไปสถานที่ดีๆ
เพิ่มคำอธิบายภาพ
ที่พลาดไม่ได้สำหรับการชมมหาเจดีย์ชเวดากองอย่างนึงคือ การชมเพชรยอดฉัตร ซึ่งยอดฉัตรนั้นประดับประดาด้วยเครื่องประดับ สร้อยแหวนอัญมณีล้ำค่า และเพชรเม็ดใหญ่ถึง 72 กะรัต ซึ่งสามารถมองดูด้วยตาเปล่าจะเห็นเพชรระยิบระยับได้หลายจุด แต่ตอนที่ไปไม่รู้ว่าดูตาเปล่าได้ ก็เลยสองกล้องดูอย่างเดียว ส่วนวิธีดูตาเปล่านั้นทราบว่าที่ลานอธิษฐานจะมีจุดมาร์คตำแหน่งส่องยอดฉัตรไว้ขยับซ้ายขวาเคลื่อนบ้างและแต่ความสูงของคน ให้สังเกตุดู ถ้ายืดที่ตำแหน่งถูกต้องจะเห็นประกายเพชรชัด

ตีระฆัง


ที่รอบๆลานกว้างนั้นมีน้ำให้เติมดื่มได้ และแถมด้วยยังมี Wifi ให้ใช้อีกต่างหาก ด้วยความรู้สึกกระดี้กระด้าที่ได้มาที่เจดีย์ชเวดากองแล้วก็เลยได้ใช้อินเตอร์เนตโพสภาพอวดคนอื่นไป 1 สเตตัส ก่อนที่จะลุกขึ้นเดินไปรอบๆเจดีย์อีกรอบนึง จากนั้นถึงได้กราบลาออกมา (แถมด้วยการบนบานสิ่งศักศิทธิ์อีก !! ไหนว่าไม่เชื่อ?)

ด้วยความที่จำไม่ได้ว่าขึ้นมาจากประตูทิศไหน เราก็เลยออกผิดจากประตูเดิม ด้วยความงงๆ ออกมาเจอตลาดแต่ก็ไม่รู้ว่าต้องไปยังไง ได้แต่เดินไป แล้วไปเจอความมืด ซอยเปลี่ยว ตอนนั้นคิดว่า ถ้าจะไปทางเดิมก็อย่างพึ่งเดินออกไปไหน ให้เดินวนเลียบๆเจดีย์ไปก่อน วนไปด้านขวาพร้อมความกลัวได้สักพักก็วนมาเจอทางเข้าหน้าถนน Shwedagon เราก็ข้ามถนนกลับไปทางเดิม พร้อมแวะซื้อสปอนเซอร์ดื่มให้ชื่นใจ
กลับมาถึงเกสเฮาสต์ราวๆ ทุ่มกว่าเกือบสองทุ่ม รีบอาบน้ำและนอน พร้อมกับอาการท้องไส้ปั่นป่วนนิดหน่อย แต่ก็ไม่ได้เป็นอะไรมาก อาจจะกังวลจนคิดเป็นเองถึงแม้อาการมันจะเล็กน้อย ภายในห้องมีสมาชิกเพิ่มมานอกจากสาวอังกฤษเป็นคู่รักวัยรุ่นไม่แน่ใจว่าจากประเทศอะไร

เราหลับยาวจนถึงเวลาเช็คเอาท์ อารมณ์ไม่อยากรีบตื่นไปไหน อยากนอนสบายๆมากกว่า(ตลอดแหละ) วันนี้นอกจากโบสถ์คริสต์อีกแห่งคือโบสถ์ St.Mary’s Cathedralในตัวเมืองย่างกุ้ง และอยากเดินเล่นในเมือง เราก็ไม่มีแผนไปไหนหรือทำอะไรเป็นพิเศษเลย ก่อนออกจากห้องก็ล่ำลากับแอนนี่และอวยพรให้เวลาที่เหลือของเธอในพม่า ไม่เจอโรคภัยใดๆ

ออกจากเกสเฮาสต์มุ่งหน้าไปทางตลาดสก็อต เดินพกความมั่นในเส้นทางสุดๆ ถนน Anawratha นั้นแต่ละซอกซอยแน่นไปด้วยผู้คน อาหารเช้าของเราเป็นไข่นกกระทา และแตงโมหวานฉ่ำจากรถเข็นข้างทาง เราพยายามที่จะมองหาไฟฉายคาดหัวสำหรับไปปีนเขาคินาบาลูอาทิตย์หน้า ความจริงเราพกไฟฉายคาดหัวที่ยังไม่ได้ใช้มาจากไทยด้วย ตั้งใจว่าจะใช้ตอนเดินขึ้นเจดีย์ชเวสันดอร์ แต่เราทำหล่นตอนแว๊นซ์กับลุงอ็องจาตอนกำลังมุ่งหน้าไปชเวสันดอร์นั่นแหละ เราเลยต้องหาซื้อใหม่แล้วคิดว่าที่พม่าอาจะจะซื้อได้ในราคาที่ถูก เราพึ่งสังเกตว่าตามถนนเรียงรายนี้มีร้านขายพวกอุปกรณ์ใช้งานช่างเยอะมาก เราเดินเข้าออกร้านนั้นร้านนี้เพื่อหาไฟฉายคาดหัว แต่ก็ไม่มีแบบที่คาดหัว
เดินข้ามสะพานลอยจากถนนเพื่อเดินตรงไปยังถนนหัวมุม(ตรงโบสถ์) แว๊บไปเห็นร้านอาหารชื่อญี่ปุ่น แต่ภายในขายอาหารไทย แปลกดี ก็คิดว่าเดี๋ยวก็ได้กลับบ้านไปกินอาหารไทยแล้ว แต่ก็รู้สึกดี๊ด๊าที่จะได้ลองอะไรใหม่ๆบ้าง กินอาหารไทยที่เมืองย่างกุ้งในร้านอาหารชื่อญี่ปุ่นมันก็แปลกดีเหมือนกัน
เราสั่งผัดเปรี้ยวหวาน (คิดว่าน่าจะเป็นปัดเปรี้ยวหวานน่ะแหละ)
ตึกรามบ้านช่องในเมืองย่างกุ้งนั้นแบ่งเป็นบล็อคๆที่ทำให้ไม่สับสนเส้นทางเลย จะเข้าออกซอยไหนก็ได้ เราเดินไปจนถึงโบสถ์เซนต์แมรี่ แว็บแรกที่เห็นตกใจมากโอ่อ่า อลังการสุดๆ เมื่อวานเราไม่ได้เข้าไปที่โบสถ์ข้างตลาดสก็อต วันนี้ตั้งใจจะเข้าไปชมโบสถ์แต่พอเห็นปุ๊บ ความตั้งใจมลายหายไปเลยเพราะไม่กล้าเดินเข้าไป ฮ่า เราได้แต่ยืนถ่ายรูปด้านหน้า ในหนังสือท่องเที่ยวพม่าเขียนไว้ว่าเป็นโบสถ์นิกายโรมันคาทอลิกที่ใหญ่ที่สุดในพม่า สร้างเสร็จในปี ค..1899 โดยสถาปานิกชาวดัทช์

อากาศยังร้อนไม่เปลี่ยน เรามองหาร้านขนมนมเนยที่จะสามารถนั่งพักได้ เดินไปเรื่อยๆจนวกกลับมาแถวๆเจดีย์สุเลพญา ใกล้จะถึงเวลาที่เราจะออกจากตัวเมืองแล้ว แต่ก็เหลือเวลาอีกนิดหน่อยพอสำหรับพักหาอะไรดื่ม เหลือบไปเห็นร้านน้ำชากับสัญลักษณ์ที่คุ้นตา ชาตรามือร้านขายน้ำเล็กๆแอร์เย็นฉ่ำ สั่งชานมเย็นมาดื่มให้ชื่นใจ จากนั้นก็คิดได้ว่าจะแลกเงินจั๊ตที่กดมาเกินกลับเป็นเงินบาทไม่ก็เงินดอลล่าเลยดีกว่า จะได้ไม่เสียเวลาไปแลกที่สนามบิน 
เราเดินมุ่งไปยังเจดีย์สุเลพญาและเดินเข้าถนน Mahabandoola Garden street ถนนระหว่าง City hall กับ AYA bank บริเวณนั้นมีธนาคารและร้านแลกเงินหลายร้าน เราลองเข้าไปขอแลกเงินจั๊ตเป็นไทยที่ธนาคาร AYA แต่ทางธนาคารไม่มี จึงเดินไปเรื่อยๆแล้วเจอร้านแลกเงินเล็กๆ ที่มีเงินบาทไทยให้แลกด้วย หลังจากแลกเงินเป็นที่เรียบร้อย เราถามคนในร้านแลกเงินถึงจุดจอดรถที่เราจะนั่งกลับไปสนามบิน ทุกคนต่างบอกว่าให้เรานั่งแท๊กซี่ไปดีกว่า

ฉันอยากทราบว่า ที่จอดรถเมล์สาย 53 อยู่ตรงไหนหรอ ฉันต้องการไปสนามบิน
ผมก็ไม่แน่ใจนะ แต่นั่งรถเมล์มันหนักมากเลยนะ รถติดด้วย ร้อนด้วย
ไม่เป็นไร ฉันนั่งมาแล้วสองครั้ง

พนักงานผู้ชายหันไปคุยกับพนักงานผู้หญิงเป็นภาษาพม่า พนักงานหญิงหันหน้ามาคุยกับเราบอกว่าให้เราเดินไปที่ข้างๆสวนสาธารณะด้านขวามือรถน่าจะผ่านบริเวณนั้น คิดดูแล้วก็เป็นตรงที่เราลงรถขามาวันแรกนั่นแหละ เรายังเหลือเงินพม่าอีกนิดหน่อยตั้งใจแลกให้หมดโดยจะไม่พกเงินพม่ากลับบ้าน จะเหลือแค่ค่ารถขากลับกับค่าน้ำค่ากาแฟนิดหน่อยจึงเอาเงินพม่าที่เป็นเศษอีกนิดหน่อยไปแลกเป็นเงินดอลล่าที่ AYA bank พนักงานสาวจำเราได้ยิ้มให้เราใหญ่แถมพูดขอบคุณเราเป็นภาษาไทยอีกต่างหาก

เราเดินออกจาก Mahabandoola Garden street ไปและไปที่รถเมล์สาย 53 อย่างมั่นใจพลางนึกร้องเพลง ‘Rouge’ของ นากาจิม่า มิยูกิ ที่ร้องว่า
“Kuchi wo kiku no ga Umaku narimashita
Donna yoishireta Hito ni demo
Kuchi wo kiku no ga Umaku narimashita
RU-JU hiku tabini Wakarimasu”

หรือจะแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า
“I've become very good at talking
No matter how drunk the listener
I've become very good at talking
When I put on my rouge, I know”

ไม่อยากแปลภาษาไทยเพราะรู้สึกไม่ค่อยอิน.. ทุกครั้งที่เวลาทำอะไรได้ดีขึ้น เก่งขึ้นเพลงนี้มักจะลอยเข้ามาในหัวตลอด การเดินในเมืองหรือการขึ้นรถเมล์ในพม่าก็เหมือนกัน ก็ไม่รู้สินะว่ามันเก่งยังไง รู้แค่ว่า ก็รู้น่ะสิ” เราวิ่งขึ้นรถเมล์ที่พึ่งเจ้ามาจอดหลังจากที่เรามั่นใจแล้วว่าตัวเลขพม่านั้นคือหมายเลข 53 รีบขึ้นเข้าไปหาที่นั่งริมหน้าต่าง ความรู้สึกที่ได้วิ่งขึ้นรถเมล์พร้อมชาวพม่านั้นเป็นความรู้สึกที่ทำให้อินกับพื้นที่มาก
จราจรยามเย็นในเมืองย่างกุ้งวันนี้ติดขัดตามที่ทราบมา อากาศก็ยังร้อนเหมือนเดิม แต่ยามเมื่อรถผ่านทะเลสาบอินยาก็รู้สึกเย็นๆทุกที ใช้เวลาเดินทางราวๆ 1ชั่วโมงจนถึงตลาด 10 ไมล์ พูดถึงตลาด 10 ไมล์ นี่ก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องตั้งชื่อแบบนี้ แต่ระหว่างนั่งรถเมล์เพื่อไปสนามบินนั้น เราก็กังวลอยู่ว่าจะถึงหรือยัง นั่งเลยหรือยัง แต่รถแล่นไปก็สังเกตุเห็นว่าตามป้ายต่างๆระหว่างทางมีชื่อห้อยเป็น 8ไมล์บ้าง 9ไมล์บ้าง เหมือนเวลานั่งรถเข้าอำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุระ เราก็อาจจะเห็นป้าย หนองแซงมอเตอร์ อะไรทำนองนี้ พอถึง 9ไมล์เราก็เริ่มเตรียมตัวจะลง ซึ่งพอถึงสนามบินก็สังเกตุได้ง่ายเลยไม่ต้องกลัวหลง

พาเนื้อตัวสกปรกมอมแมมเดินเข้าสนามบินด้วยความรู้สึกไม่อยากกลับเต็มที่ ก่อนจะเข้าไปเช็คอินสนามบินก็เข้าไปทำความสะอาดตัวในห้องน้ำภายในสนามบิน ก่อนควักเงินจั๊ตซื้อขนมและกาแฟกินเพื่อให้เงินพม่าหมดกระเป๋า แต่ก็ไม่วายเหลือเงินเศษบ้างนิดหน่อย ซึ่งก็นำไปแลกเป็นเงินไทยที่เคาเตอร์ในสนามบินจนหมด ยังคิดซ้ำไปซ้ำมาว่า พม่านี้ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดจริงๆ ผ่านมาหลายเดือนแล้วก็ยังคิดถึง อยากกลับไปอีก มีพบก็ต้องมีจาก คิดเสมอว่าแล้วเจอกันใหม่

เป็นการเที่ยวที่รู้สึกอึนมากไปแบบไม่รู้ งงๆ แต่กลับมามีผลกระทบที่รุนแรงมาก ถึงขนาดทำให้มีหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พม่ารายล้อมตัว ทำให้เราอาจจะสามารถทำตามแผนที่ตั้งใจทำในปีนี้สำเร็จเรื่องนึงคือ อ่านหนังสือให้ได้มากกว่า 10 เล่ม ตอนนี้จำนอนหนังสือครบแล้ว แต่ยังอ่านไม่หมด

เป็นทริปบินเดี่ยวที่ไปคนเดียวแบบเดี่ยวๆจริงๆเป็นทริปที่ 2 คือไม่ได้ไปเจอใครที่รู้จักเลย มีทั้งความเหงา เศร้า กลัว(พี่ใหญ่กัด) หลากหลายอารมณ์ไป อยากกลับไปอีกรอบ อยากกลับไปเที่ยวรัฐฉานอีก อย่างไปตะลอนพุกามอีก แต่อยากพาบัดดี้ไปด้วย  ไม่ใช่ว่าการไปคนเดียวไม่สนุก แต่การที่เรามีคนที่ไปไหนมาไหนด้วยได้นั้นก็ดีไม่ใช่หรอ ถึงแม้จะทะเลาะกันระหว่างทางก็ไม่ตัดขาดกัน (ก็เป็นพี่น้องกันนิ) ฮัลโหลลลลลลลลลลล ไปอีกเมื่อไรดี ?

ป.ล.  คิดแล้วคิดอีกว่าจะบันทึกต่อดีมั้ย ดองนานมาก เริ่มสร้างบทความตั้งแต่เดือน 5 เขียนและกว่าจะเผยแพร่ ณ วันที่สำเร็จคือ 3 พฤศจิกายน ...


ความทรงจำเมื่อวันที่  10-17 กุมภาพันธ์ 2559
มิงกาลาบา เหงื่อไหลไคลย้อย ณ ย่างกุ้ง (อีกรอบ) มีพบแล้วก็มีจาก
by Mei




You Might Also Like

0 ความคิดเห็น

Show Comments: OR

Flickr Images